
“สร้างสรรค์ความฝันให้เป็นจริง” การได้หวนย้อนกลับไปนึกถึงบรรยากาศเดิมในอดีต ดื่มด่ำไปกับความรู้สึกพิเศษเก่าๆ ที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีก เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกไม่ต่างกัน ความรู้สึกที่ชื่อว่า “ถวิลหา” หากให้ลองนึกถึงร้านกาแฟ แน่นอนว่าหลายคนต้องนึกถึง “คาเฟ่” ที่มีขายทั้งเมนูเครื่องดื่มและเมนูอาหารว่าง มีการตกแต่งที่สวยงามทันสมัย มีมุมให้นั่งทำงานแบบสะดวกสบายและเป็นส่วนตัว แล้วภาพจำในอดีตล่ะ คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าร้านกาแฟในรุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเราเป็นอย่างไร มีกลุ่มคุณลุงคุณป้ามานั่งกินโอเลี้ยงอ่านหนังสือพิมพ์เหมือนกับในละครโทรทัศน์ที่เคยเห็นหรือไม่ แล้วพวกเขาไปใช้บริการร้านกาแฟเพื่อทำอะไรกัน คงไม่ใช่เพื่อไปนั่งดื่มกาแฟแล้วกลับเป็นแน่ ซึ่งเรากำลังจะกล่าวถึงร้าน “ไทยสามัคคี” ร้านกาแฟที่เป็นตำนานของจังหวัดนครพนม ที่นอกจากเรื่องความอร่อยแล้ว ยังมีคุณค่าทางจิตใจที่เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ร้านไทยสามัคคี ร้านกาแฟชื่อดังในอดีตของจังหวัดนครพนม เป็นอาคารไม้สองชั้น ที่ชั้นบนเป็นส่วนของที่อยู่อาศัย ส่วนชั้นล่างนั้นเป็นร้านกาแฟ แต่ก็ไม่ใช่ขายแค่กาแฟเพียงเท่านั้น จะมีมุมโต๊ะไว้สำหรับนั่งทานปาท่องโก๋และน้ำเต้าหู้ รวมไปถึงอาหารเช้าอ่อนๆ อย่างโจ๊กและข้าวต้มอีกด้วย เปรียบเสมือนจุดนัดรวมพลของทุกคนในระแวงนั้นก็ว่าได้ทั้งพ่อค้า แม่ค้า รวมไปถึงเหล่าข้าราชการ ต่างพากันไปจับจองที่นั่ง โดยเฉพาะในวันประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากทางร้านจะเปิดวิทยุให้ฟังถ่ายทอดสดโดยพร้อมเพรียงกัน ทำให้ทั่วทั้งหน้าร้านต่างแน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่เดินทางมา เพื่อลุ้นรางวัลใหญ่ที่จะช่วยพลิกชีวิตของพวกเขาได้
บรรยากาศเช่นนี้คงหาไม่ได้แล้วในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างในปัจจุบัน การรวมตัวกันที่ร้านอาหารประจำย่านนั้นเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ดูเป็นภาพที่เข้ากับชื่อของร้านอย่าง “ไทยสามัคคี” นอกจากนั้นยังมีภาษาจีนกำกับที่ป้ายร้านว่า 平和 (Pínghé) มีความหมายว่า “ความสงบ” ซึ่งบรรยากาศของร้านไทยสามัคคีก็ให้ความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ในอีกนัยหนึ่งนั้น การที่ชื่อร้านมีความหมายเป็นเช่นนั้น ก็เพื่อแสดงถึงความสงบสุขและความสามัคคีกันในหมู่มวลมนุษย์ และอยากให้พื้นที่ของร้านเป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นก็เป็นได้ ด้วยตัวร้านที่ตั้งอยู่บริเวณหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์นั่นเอง
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 นับเป็นวันที่น่าเศร้าโศกใจต่อผู้ที่รับรู้ถึงเหตุการณ์นั้น เมื่อครั้งฝรั่งเศสได้โจมตีลาวใต้เพื่อกลับเข้ามาปกครองลาวอีกครั้งในฐานะเจ้าอาณานิคม หลังถอนตัวออกไปเนื่องจากญี่ปุ่นเคลื่อนทัพเข้ามาในลาวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการเข้ามาของฝรั่งเศสในครั้งนี้ถือว่ามีความโหดร้ายยิ่งนัก โดยได้ทำการบุกโจมตีเมืองท่าแขก และได้เข่นฆ่าผู้คนอย่างไร้ปราณีและทารุณ เนื่องจากมีกลุ่มประชาชนชาวลาวร่วมกับทหารเวียดนามบางกลุ่ม ได้ลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้ในอิสรภาพของตน แต่ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ฝรั่งเศสที่มีวิทยาการเครื่องมือที่ทันสมัยมากกว่า จึงมีทั้งชาวลาวและชาวเวียดนามจำนวนมากอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ในเมืองนครพนม ในเหตุการณ์ครั้งนี้ผู้คนสองฝั่งโขงเรียกว่า “วันท่าแขกแตก” (The battle of Thakhek ; ThàKhẹt bị thất thủ) ซึ่งเป็นที่มาของหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ถูกสร้างโดยชาวเวียดนามที่อพยพมาอาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมในขณะนั้น สร้างขึ้นก่อนย้ายกลับเวียดนามในปี พ.ศ. 2503 เพื่อเป็นการขอบคุณพี่น้องชาวไทยที่ได้ให้การช่วยเหลือเมื่อครั้งอพยพมา
บรรยากาศของชุมชนในระแวงนั้นจึงให้กลิ่นอายถึงยุคเก่าและแฝงไปด้วยความรู้สึกที่ทำให้หวนนึกถึงทั้งเรื่องดีเรื่องเศร้าในอดีตกาลเก่า เพราะมีสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติต่างๆที่อพยพเข้ามารวมถึงร้านไทยสามัคคีเช่นกัน ที่เมื่อมองแล้วภาพบรรยากาศในอดีตก็แทรกเข้ามาให้ได้คิดถึงจนอบอุ่นหัวใจ แม้ในปัจจุบันร้านไทยสามัคคีจะปิดตัวลงไป แต่ด้วยความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร ทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความวินเทจเรโทร เนื่องจากรูปแบบตัวอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะตะวันตกผสมผสานเข้ากับศิลปะของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 – รัชกาลที่ 6 อาคารไม้ชั้นบนออกแบบให้มีมุขหลายเหลี่ยม ทำให้สวยสะดุดตา ลายฉลุตามบานหน้าต่างทำให้แสงลอดเข้าภายในตัวอาคาร ให้ไม่มืดและเย็นสบายแม้ปิดบานหน้าต่างไว้ ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า และเป็นประโยชน์ให้แก่คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในยุคสมัยนั้น รวมถึงสะท้อนถึงวิถีชีวิตและรสนิยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทย ณ ขณะนั้นอีกด้วย

ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน อีกทั้งยังตั้งอยู่เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง หัวมุมถนนสุนทรวิจิตรที่เชื่อมปลายถนนศรีเทพ บริเวณหอนาฬิกา ใจกลางเมืองเก่าของนครพนม เรียกได้ว่าตั้งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ท่ามกลางตึกราบ้านช่องต่างๆ นั่นเอง ทำให้กลายเป็นจุดเช็คอินอีกหนึ่งจุดที่เมื่อไปเยือนนครพนมไม่ควรพลาดแวะไปถ่ายรูปสักแชะ 📸 แม้แต่ภาพยนตร์ดังอย่างเรื่อง You and Me and Me เธอกับฉันกับฉัน (ปี 2566) ของทางค่ายยักษ์ใหญ่ GDH ก็ไม่พลาดที่จะใช้โลเคชันตรงจุดนี้ในการถ่ายทำ ด้วย Mood & Tone ของเนื้อเรื่องที่มีความ Y2K ยุค 90 หน่อยๆ ทำให้ถนนสายนี้ตอบโจทย์บรรยากาศหนังได้เป็นอย่างดี
คุณกิ่งแก้ว หิรัญวรพงศ์ เจ้าของไทยสามัคคี มองเห็นถึงการสร้างคุณค่าในพื้นที่นี้ ทั้งในแง่ของธุรกิจและเรื่องบรรยากาศของชุมชน การกลับมาของร้านอาหารในตำนานที่จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทำให้ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะคาดหวังถึงบรรยากาศเดิมในอดีต ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่ดี ResGoal ได้รับโอกาสในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์สำคัญนี้ การออกแบบที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของร้านไทยสามัคคีไว้ เพิ่มดีไซน์ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ร่วมกับการใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้และยืนอายุของตัวอาคารให้ยั่งยืน การกลับมาครั้งนี้ของร้านไทยสามัคคีที่จะสานต่อตำนานร้านอาหารของนครพนม ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เพราะ ResGoal เราสร้างสรรค์ร้านอาหารให้เป็นมากกว่าความอร่อย พบกับร้านไทยสามัคคีในรูปโฉมใหม่ เร็ว ๆ นี้... Coming Soon
Comments